วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มดลูกอักเสบ ในสุนัข

สุนัข มดลูกอักเสบ

มีอยู่วันหนึ่งทุ่มครึ่งแล้วใกล้ปิดคลินิก ผมได้รับโทรศัพท์จากเจ้าของสัตว์จากอำเภอท่าชนะ ( ไม่แน่ใจว่ากี่กิโลเมตร แต่รู้สึกว่าไกลมาก)

เจ้าของสัตว์ … หมอ  อย่าเพิ่งปิดร้านนะ กำลังจะพาหมาไป เพิ่งจับมันได้ มันเป็นหมาจรจัด ให้ข้าวมันกินมานานแล้ว เห็นท้องมันโตขึ้นเรื่อย ไม่รู้มันคลอดไม่ออกหรือเปล่า
(ประมาณ 40 ก็มีรถมาจอดหน้าร้าน)

เจ้าของสัตว์ … หมอ  ช่วยดูให้หน่อย มันเป็นอะไร ช่วยมันได้ไหม สงสารมัน กลัวมันตาย

หมอ … (…นึกในใจ…โอ้แม่เจ้า ทำไมมันมโหฬารอย่างนี้ ) พร้อมกับตรวจดูด้านหลัง โดยยกหางขึ้นดู พบคราบหนองเกรอะกรังเต็มสองขาหลัง และที่หาง มีกลิ่นเหม็นคาวมาก ….เคยฉีดยาคุมให้สุนัขไหมครับ ?



เจ้าของสัตว์ … ฉีดมา สองครั้งแล้ว เห็นตัวผู้มาปีน กลัวมันจะท้อง

หมอ … นานหรือยังครับ ?

เจ้าของสัตว์ … ก็นานแล้วนะ เกือบจะปีแล้ว ที่ท้องมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกนึกว่ามันติดลูกแน่ๆ แต่ไม่เห็นมันคลอดออกมาเสียที  สามสี่วันนี้ มันไม่ค่อยกินอาหาร และดูมันเพลียๆ กลัวมันตาย

หมอ … กดช่องท้องบริเวณสีข้างเบาๆ มีหนอง (ทะลักออกมา)
 …เอ่อพี่ครับ มันเป็นมดลูกอักเสบครับ
…ที่มันไม่กินอาหารก็เพราะว่ามันอาการหนักแล้วครับ ที่อยู่มาได้เกือบปีนี่ก็ สุดยอดแล้วครับ
…เอาเป็นว่าต้องรีบผ่าตัดเอามดลูกออกแล้วนะครับ

เจ้าของสัตว์ … เอาตามหมอว่าแหละ เดี๋ยวผมไปทานข้าวก่อน แล้วค่อยมารับ


ปรกติแล้ว เคส มดลูกอักเสบถือว่าพบได้บ่อย และ แทบจะทุกวัน แต่สำหรับตัวนี้ถือว่ามโหฬารจริงๆ ถือว่าเป็นที่สุดในรอบหลายปีเลยก็ว่าได้ครับ (มดลูกอักเสบหนัก 7.5 กก )


มดลูกอักเสบเกิดจาก  :

1 การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน Progesterone ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนเพศอื่นๆ ในการควบคุมการเป็นสัด และการเจริญของเยื่อเมือกด้านในผนังมดลูก  สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่พบบ่อยๆได้แก่ การไปรบกวนสมดุลตามปรกติ เช่น การฉีดยาคุมกำเนิด ( ถ้าเจ้าของจะฉีดยาคุมให้สุนัขเองที่บ้านควรปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านสักนิดนะครับ ว่าควรฉีดในช่วงไหนได้บ้าง และช่วงไหนไม่ควรฉีด พร้อมทั้งความเสี่ยง ข้อดีข้อเสียต่างๆ หลังฉีดยาคุม )

2 การติดเชื้อ  : ช่วงที่เสี่ยงในการติดเชื้อง่ายที่สุด  ได้แก่ ช่วงที่  สุนัขเป็นสัด  สุนัขอายุมาก หรือ สุนัขที่แท้งลูก

อาการมดลูกอักเสบ :  ที่เจ้าของสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย คือ เบื่ออาหาร กินแต่น้ำ ผอมลงเรื่อยๆ แต่ท้องกลับโตขึ้น หรือ เลียก้นเลียหางบ่อยๆ เมื่อมองดูใกล้ๆ จะพบว่ามีหนองไหลคล้ายนมขน หรือปนเลือดออกมา

( ถ้าสงสัยว่าสุนัขของเราจะเป็นมดลูกอักเสบหรือไม่ ควรนำสุนัขไปปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านด่วนครับ)
บทความโดย
หมอโต  :  น.สพ.ฐาพล โคตรวันทา

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำไปได้……..อย่างนี้ก็มีด้วย ทำหมันแล้วยังท้องได้อีก

 เจ้าของแมวพาไปทำหมันมา  3 เดือนให้หลัง มีลูกเกิดตามมา 1ตัว เจ้าของแมวงงเป็น ชิคเค่นตาแตก ก็เลยพามาทำหมันซ้ำ ตอนแรกผมก็ยังงงๆ มันจะเป็นไปไปได้ยังไง ( มีรอยแผลผ่าตัดและเย็บแผลเห็นชัดเจน )

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พาราเซตามอล ยาอันตรายสำหรับน้องหมากะน้องแมว


พาราเซตามอลเป็นยาบรรเทาอาการปวดและลดไข้ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับมนุษย์  แต่เป็นพิษร้ายแรงสำหรับสุนัขและแมว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแมว ขนาดยาที่เป็นพิษสำหรับสุนัข คือ 165 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม  สำหรับแมวอยู่ที่ 55 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม  ยาเม็ดพาราเซตามอลขนาดปกติ 325 มิลลิกรัม สามารถฆ่าแมวได้เลยนะ

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

พิทบูล คัน ขนร่วง ผิวหนังอักเสบ ฉีด Ivermectin ทำไมไม่หาย ?


เพราะโรคผิวหนังพิทบูล ที่มี อาการ คัน ขนร่วง ผิวหนังอักเสบ  ที่พบบ่อยๆ เรียงตามลำดับ ได้แก่

1) โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 
แบ่งได้ 3แบบใหญ่ๆตามความลึกของการติดเชื้อ
1.1) ติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นนอก : พบได้บ่อยบริเวณ รอยพับย่นตามร่างกาย เช่น ปาก หน้า ข้างอวัยวะเพศเมีย    ร่องโคนหางบูลดอก เป็นต้น
1.2) ติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นกลาง : รวมทั้งขุมขนโดยจะพบตุ่มหนองบริเวณที่ติดเชื้อ ( พันธ์ขนสั้น เช่น บอกเซอร์   พิทบูล บูลดอก โดเบอร์แมน มักเป็นโรคนี้ง่าย และรักษายาก )
1.3) ติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นลึก : รักษายากและไม่หายขาด และมักพบว่ามีการติดเชื้อร่วมกับเชื้ออื่นๆ เช่นเชื้อรา   หรือ ขี้เรื้อนเปียก



2) โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา  พวก  (Ring worm) ลักษณะของรอยโรคที่เป็นขอบยกสูงชัดเจน  ผิวหนังอักเสบ สุนัขแสดงอาการคัน เกา






3) โรคผิวหนังที่เกิดจากยีสต์มาลาสซีเซีย ปรกติแล้วเชื้อยีสต์สามารถพบได้ตามผิวหนังทั่วไป เช่น ช่องหูส่วนนอก ทวารหนัก ช่องคลอด แต่ถ้าเมื่อผิวหนังมีสภาพเปลี่ยนไป เช่นมีการอักเสบ มีความชื้น หรือไขมันสะสมอยู่มาก เชื้อยีสต์จะเพิ่มจำนวนและก่อโรคได้



4) โรคผิวหนังที่เกิดจากไรขี้เรื้อนขุมขน หรือขี้เรื้อนเปียก  อาจพบไรเหล่านี้ในขุมขนโดยสัตว์ไม่แสดงอาการใดๆ เลย ส่วนอาการที่พบได้มักพบขนร่วงเป็นหย่อมบริเวณ แก้ม ริมฝีปาก ขอบตา ขาหน้า และถ้าหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะพบเป็นตุ่มหนองแฉะกลิ่นตัวแรง รักษาค่อนยาก ( พันธ์สุนัขที่พบว่าเกี่ยวข้องกับโรคนี้ โดยเป็นโรคง่ายเนื่องจากมีภูมิต้านทานเกี่ยวกับโรคนี้ต่ำ ได้แก่ อัลเซเชียน บูลเทอร์เรีย อิงลิชบูลดอก ดัลเมเชียน สะแตฟฟอร์ดไชร์เทอร์เรีย พิทบูล )




5) โรคผิวหนังที่เกิดจากไรขี้เรื้อนแห้ง  ติดต่อง่ายมากโดยการสัมผัส สัตว์จะแสดงอาการคันรุนแรง และขนร่วง และผิวหนังเป็นสะเก็ดแห้ง ลุกลามเร็วมาก แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ง่าย






6) โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้  เนื่องจากสูดหายใจเข้าไป(สารกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้ Allergen ) แพ้อาหาร (สารจำพวก Glycoprotein)  เนื่องจากการสัมผัส ( สารที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น พืชบางชนิด หนังสัตว์ สารเคมี)  แพ้น้ำลายหมัด ( โปรตีนจากน้ำลายหมัดResilin)           




7)  โรคผิวหนังที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน Hypothyroid  นอกจากสัตว์จะแสดงอาการที่ขนและผิวหนังแล้ว ยังแสดงอาการอีกหลายแบบ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยง่าย  อ้วนทั้งที่กินอาหารปรกติ


________________________________________________________________________________

จะเห็นได้ว่าโรคผิวหนังที่เกิดกับพิทบูลของเรานั้น มาจากหลายๆ สาเหตุ ไม่ได้มาจากขี้เรื้อนอย่างเดียว และอาการทางผิวหนังนั้นคล้ายคลึงกันมาก คือ คัน ขนร่วง และผิวหนังอักเสบ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงควรพาพิทบูลของเราไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้าน

1) ในเบื้องต้นสัตวแพทย์ จะทำการซักประวัติ เพื่อให้ทราบถึงการดำเนินไปของโรค และหาสาเหตุเบื้องต้นที่น่าจะเกี่ยวข้อง เช่น อายุ เพศ เคยทำหมันหรือไม่ เริ่มอาการเมื่อได คันมากน้อยแค่ไหน หรือ มีการเลี้ยงสัตว์อื่นร่วมกันหรือไม่เป็นต้น 

2) หลังจากนั้นสัตวแพทย์ จะทำการตรวจร่างกายสัตว์ และทำการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นให้เราทราบว่าพิทบูลของเรานั้นน่าจะเป็นโรคผิวหนัง เนื่องจากสาเหตุใด ( บางโรค ประวัติ และอาการป่วยที่ชัดเจนก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยโรคได้ ) แต่ถ้าอาการไม่ชัดเจนสัตวแพทย์อาจจะทำการตรวจในระดับห้องปฏิบัติการต่อไป เช่น ขูดผิวหนังเพื่อตรวจหาไรขี้เรื้อน ส่งตัวอย่างเพื่อเพาะเชื้อ ย้อมสีเพื่อดูเชื้อที่ผิวหนัง และ อื่นๆอีก

3) สัตวแพทย์จะวางแผนการรักษา ให้คำแนะนำ และพยากรณ์โรคให้เรา เช่น จะรักษายังไง ต้องอาบน้ำด้วยแชมพูยาไหม ให้ยาอะไรบ้าง ยาแต่ละตัวใช้เพื่ออะไร  จะหาย-ไม่หาย หรือแค่พยุงอาการ  ใช้เวลารักษานานเท่าใด

คำแนะนำเหล่านี้เราควรจะได้รับความชัดเจนจากสัตวแพทย์ของเรานะครับ…..

เวชภัณฑ์ที่มักใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ได้แก่
Ivermectin , Amitraz, ยารักษาเชื้อรา , ยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย, ยาลดอาการคัน, ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน,ยากดภูมิคุ้มกัน, แชมพูโรคผิวหนัง หรือสารเสริมอาหารอื่นๆ ที่เหมาะสม
บทความโดย
หมอโต  :  น.สพ.ฐาพล โคตรวันทา
 www.clinicraksad.com

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ยา Ivermectin ใช้รักษาโรคอะไร


Ivermectin
ข้อมูลจำเพาะ : เป็นยาต้านปรสิตภายในและภายนอกหลายชนิดในสัตว์ ออกฤทธิ์ยับยั้งกระแสประสาทในปรสิต ทำให้เป็นอัมพาตหรือการตายของปรสิต

รูปแบบยา
ยากิน : ยาเม็ดขนาด 68 ไมโครกรัม, 136 ไมโครกรัม และ 272 ไมโครกรัม บางตำหรับมีส่วนผสมของ Pyrantel   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายพยาธิลำไส้
ยาฉีด  : ยาน้ำใส 1% ( หมายเหตุ : Ivermectin ชนิดฉีดเป็นตำหรับยาที่ขึ้นทะเบียนใช้เฉพาะในสัตว์ใหญ่)
ขนาดใช้
ยากิน :  แมว : เพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจและพยาธิปากขอ ใช้ 24 ไมโครกรัม/กก. ทุก30-45 วัน
               สุนัข : เพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ ใช้ 6 ไมโครกรัม/กก. เดือนละครั้ง
ยาฉีด  : แมว : ต้านปรสิตทั้งภายนอกและภายใน ใช้ 200-400 ไมโครกรัม/กก. SC ทุก 1-2 สัปดาห์  ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง
              สุนัข : รักษา Sarcoptosis (ขี้เรื้อนแห้ง) และไรในหู ใช้ 300 ไมโครกรัม/กก. SC  2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน
 ฆ่าตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจหลังจากฆ่าตัวแก่แล้วใช้ 50 ไมโครกรัม/กก. SC
 รักษา Demodicosis (ขี้เรื้อนเปียก หรือ ขี้เรื้อนขุมขน) ใช้ 600-1000 ไมโครกรัม/กก. SC สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 4-5  สัปดาห์  หรือกิน 300-600 ไมโครกรัม/กก. วันละครั้งนาน 2 เดือน
 ต้านปรสิตทั้งภายนอกและภายใน ใช้ 200-300 ไมโครกรัม/กก. SC
                ม้า  :  200  ไมโครกรัม/กก. IM หรือให้กิน
                โค กระบือ แพะ แกะ  :  200  ไมโครกรัม/กก. SC
                 สุกร  :  300  ไมโครกรัม/กก. SC
                 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก :  ต้านปรสิตทั้งภายนอกและภายใน 200-400  ไมโครกรัม/กก. SC   หรือให้กิน
                 นก :  ต้านปรสิตทั้งภายนอกและภายใน ใช้ 200  ไมโครกรัม/กก. SC หรือ IM เจือจางยาในอัตราส่วน  Ivermectin : น้ำ (1: 4.5) แล้วให้กินในขนาด 0.1 มล./กก
                 สัตว์เลื้อยคลาน(ยกเว้นเต่า) :  ต้านปรสิตทั้งภายนอกและภายใน ใช้ 200  ไมโครกรัม/กก. SC หรือ ให้กิน

ข้อควรระวัง : 
กดการทำงานของระบบประสาทในกรณีที่ให้ปริมาณสูงเกินไป ควรคนวนยาตามน้ำหนักตัวอย่างระมัดระวังทุกครั้งที่ให้ยา
ห้ามใช้ในสัตว์อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์
ห้ามใช้ในกรณีสุนัขพันธ์คอลลี่ หรือ คอลลี่ลูกผสม

( ขอบคุณ แหล่งที่มาของข้อมูล : การใช้ยา A-Z สำหรับสัตวแพทย์ หน้า 232-233   โดย  : วรา พานิชเกรียงไกร, ศรินทร หยิบโชคอนัต์, ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตัวอย่างรูปแบบยาฉีด















ตัวอย่างรูปแบบยากิน

 



วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีการป้อนยา หมา-แมว แบบง่ายๆ

วิธีการป้อนยา หมา-แมว แบบง่ายๆ 
เพื่อให้หมา-แมวที่ป่วยได้รับยาครบตามความต้องการ ในการรักษาโรคต่างๆ



(แมว-สุนัข) : มือซ้ายจับโอบหัวแมวให้เต็มอุ้งมือ นิ้วโป้งกดที่มุมปาก นิ้วชี้-นิ้วกลาง-นิ้วนาง กดที่มุมปากอีกข้าง

 (แมว) : นิ้วก้อยโอบ ล็อคท้ายทอยให้แน่น






(แมว-สุนัข) : มือขวาอีกข้าง  นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับเม็ดยา







(แมว-สุนัข) : นิ้วกลางใช้ง้างขากรรไกรล่างลงมาเพื่อให้สัตว์อ้าปาก




(แมว-สุนัข) : เมื่อสัตว์อ้าปาก ใช้นิ้วโป้งดันเนื้อกระพุ้งแก้มเข้าไปค้ำปากไว้  ไม่ให้งับปากลงหรือ ป้องกันไม่ให้กัดมือคนป้อนยา

(แมว) : จับแหงนหน้าขึ้น 90 องศา โดยใช้สันมือซ้ายที่จับหัวแมว น้ำหนักกดถ่ายลงท้ายทอย-ต้นคอ-สันหลัง-ข้อศอก เพื่อบังคับไม่ให้แมวลุก หรือเคลื่อนไหว
(ถ้าจับเฉยๆโดยที่ไม่ลงน้ำหนักในการกดแมวจะขัดขืนโดยการจะกระโจน หรือพุ่งตัวไปข้างหน้า )


(แมว) : จะมองเห็นโคนลิ้นเป็นหลุมลึก ทำการหย่อนเม็ดยาลงไป  เสร็จแล้วลูบคอเบาๆให้แมวกลืนเม็ดยา
(สุนัข) : ใช้นิ้วโป้งกดเม็ดยาลงที่โคนลิ้นเสร็จแล้วลูบคอเบาๆให้สุนัขกลืนเม็ดยาลงไป






หรือถ้าหากจะใช้อุปกรณ์การป้อนเม็ดยาก็ทำได้เช่นเดียวกัน.
 โดยการปล่อยยาเม็ดที่โคนลิ้นเหมือนกันการป้อนด้วยมือ





ในการให้ยาน้ำก็ทำคล้ายๆกัน
(สุนัข-แมว) : จับให้แหงนหน้าเล็กน้อย 30-45 องศา แล้วใช้หลอดดูดยา   ปล่อยยาเข้าที่ช่องฟันด้านข้างกระพุ้งแก้ม ให้สัตว์ค่อยๆ  กลืนลงไป



ข้อควรระวัง : .
ในการป้อนยาที่เป็นน้ำ ห้ามบีบยาเร็วและแรงเกินไป เข้าไปที่โคนลิ้นโดยตรงเพราะสัตว์อาจสำลักยาเข้หลอดลมได้. 
สำหรับแมวป่วยควรตัดเล็บเสียก่อนเพื่อป้องกันอันตรายจากการข่วน
หากสัตว์ไม่ยอมให้ความร่วมมือ และก้าวร้าว ดุร้ายเกินไป ควรปรึกษาสัตวแพทย์
บทความโดย
หมอดาว   :   สพ.ญ.ภัสส์ณศา เขาท่าเพชร
  www.clinicraksad.com

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอ….หมาเรามันคิดอะไรอยู่น๊า…..

เราจะเข้าใจความรู้สึกของสุนัขพิทบูลของเราได้ดีมากขึ้น ถ้าเราสังเกตภาษาท่าทางของสุนัข เช่น ดูหาง หู และ แววตา ที่มันแสดงออกมาดังนี้ครับ